กินแล้วนอน_ระวังกรดไหลย้อนมาเยือน

กินแล้วนอน ระวังกรดไหลย้อนมาเยือน

ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน จึงทำให้พฤติกรรมการกินของเราเปลี่ยนแปลงตามไป บางคนก็กินไม่เป็นเวลา บางคนกว่าจะเลิกงานกลับถึงบ้านก็ดึกแล้ว และกว่าจะได้กินข้าว แถมพอ กินแล้วนอนเลย พอนาน ๆ ไปก็จะเริ่มมีอาการจุกเสียดแน่นคล้ายอาหารไม่ย่อย จุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ แสบร้อนบริเวณอก บางครั้ง มี เรอ คลื่นไส้ อาจมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ อาการเหล่านี้บ่งบอกว่า คุณกำลังเป็นกรดไหลย้อนนั่นเอง

การกินแล้วนอน ทำไมถึงเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน

เมื่อกินอาหารเสร็จ กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารจะเปิดหลังจากที่เรากลืน ทำให้อาหารสามารถที่จะเคลื่อนผ่านจากหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหารได้ และจะปิดอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้ามาสู่หลอดอาหาร แต่ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดนี้ทำงานผิดปกติหรือมีความแข็งแรงลดลงจะทำให้อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมาที่หลอดอาหารได้

กรดไหลย้อน โรคนี้พบได้บ่อย แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญ ปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรัง บางครั้งซื้อยามาทานเองและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ เกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหาร บางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้

วิธีป้องกันกรดไหลย้อน

1.หลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้
  • อาหารที่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสจัด เผ็ดจัด มีความเป็นกรด เช่น มะเขือเทศ
  • อาหารที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน เช่น อาหารที่ไขมันสูง อาหารทอด อาหารผัดน้ำมันมาก ๆ
  • อาหารและเครื่องดื่มที่มีสารช่วยการคลายตัวของกล้ามเนื้อ เพราะจะลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร เช่น ช็อกโกแลต เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • อาหารที่กระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องดื่มมีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
2.หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหาร

ควรรอให้ทานเสร็จแล้วประมาณ 10 นาทีค่อยดื่มน้ำ เพื่อไม่ให้ มีปริมาณอาหารและของเหลวในกระเพาะอาหารมากเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อกรดไหลย้อน

3.ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง

วันละ 4-5 มื้อแทนอาหารมื้อใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาหารและน้ำในกระเพาะอาหารมากเกินไป

4.ควรทานมื้อเย็นให้เร็วขึ้น

ไม่รับประทานในปริมาณมากและไม่ควรนอนหลังรับประทานอาหารทันที ควรเข้านอนหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

5.ไม่ควรพูดไปกินไป

เพราะระหว่างพูดจะกลืนลมลงท้องมากขึ้น

6.การเคี้ยวหมากฝรั่ง

มีส่วนเพิ่มการหลั่งน้ำลาย ทำให้กลืนน้ำลายลงไปมากขึ้น และเพิ่มการกลืนลมลงไปในท้อง

7.ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป

ถ้าน้ำหนักมาก ให้ลดน้ำหนัก เพราะคนอ้วนมีความเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนมากกว่าคนผอม

8.สวมเสื้อผ้าที่ไม่คับจนเกินไป

เพราะเสื้อผ้าคับจะเพิ่มแรงดันในช่องท้อง

9.ไม่ควรซื้อยากินเอง

เนื่องจากยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ยาลดความดันบางประเภท ยาทางจิตประสาท ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นต้น จะทำให้หูรูดคลายตัว หรือมีกรดหลั่งมากขึ้น

10.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

เพราะมีสารพิษ เพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร และอาจทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลง

11.นอนตะแคงซ้าย

หนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น หรือนอนเตียงเอียงให้ด้านหัวสูงกว่าด้านเท้า

ช่วยลดความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายหลั่งกรดมากขึ้น

ผู้ที่เป็นโรคนี้ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว อาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องได้รับยาในการรักษา และควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.samitivejhospitals.com

ปากกาลดน้ำหนัก

ปากกาลดน้ำหนัก ลดความอ้วนได้จริง?

หนึ่งในวิธีใหม่ที่ได้รับความนิยมคือการใช้ปากกาลดน้ำหนักชนิดฉีดใต้ผิวหนัง ซึ่งมีสารเคมีที่คล้ายกับฮอร์โมนในร่างกาย ที่ช่วยลดน้ำหนักได้มากกว่า 10% ในบางกรณี โดยมีผลข้างเคียงเล็กน้อยเช่น คลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร

กลไกการออกฤทธิ์ของยา

ยาชนิดนี้มีความคล้ายกับฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ในร่างกาย หลังจากยาเข้าสู่กระแสเลือด ส่งสัญญาณลดความอยากอาหารไปที่สมอง ทำให้หิวน้อยลง ลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ช่วยให้อาหารอยู่ในกระเพาะนานขึ้น จึงทานอาหารได้น้อยลง กระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินมาช่วยปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด โดยไม่ทำให้น้ำตาลตกหรือวูบ เพราะยาจะออกฤทธิ์ก็ต่อเมื่อเรากินอาหารเข้าไปแล้วเท่านั้น อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ้าง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเดิน หรือท้องผูก แต่อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน และผู้ใช้ยาจะสามารถปรับตัวกับยาได้เมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์

ข้อห้ามใช้ยา

ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งไทรอยด์ โรคไทรอยด์ เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบ ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุ ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด ผู้ที่เป็นโรคตับหรือไต

อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะพบได้

เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเดิน หรือท้องผูก แต่อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน และผู้ใช้ยาจะสามารถปรับตัวกับยาได้เมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ปากกาลดน้ำหนักเป็นเพียงแค่แนวทางหนึ่งในการช่วยลดน้ำหนัก เหนือสิ่งอื่นใด คือ การควบคุมอาหาร รับประทานแต่ของที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก ไม่เครียด จะช่วยส่งเสริมให้เป้าหมายของการลดน้ำหนักให้สำเร็จไวขึ้น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.samitivejhospitals.com

กินอย่างไรให้ห่างไกลต่อมลูกหมากโต

กินอย่างไร ให้ห่างไกลต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมากโต ถึงแม้จะไม่ใช่มะเร็งและไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สามารถรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการปัสสาวะบ่อย รวมถึงสร้างความกังวลต่อจิตใจถึงความเสื่อมถอยของสมรรถภาพทางเพศ และหากไม่รีบทำการรักษาปล่อยจนอาการเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนจากอาการไตวายได้

ดังนั้น… ผู้ชายวัย 40 ขึ้นไปควรดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการหมั่นสังเกตความผิดปกติของระบบขับถ่ายปัสสาวะ พร้อมทั้งเข้ารับการตรวจต่อมลูกหมากพร้อมตรวจสุขภาพประจำปี และเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยป้องกันต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมาก

อาหารที่แนะนำ ป้องกันต่อมลูกหมากโต

1.มะเขือเทศ

มะเขือเทศนั้นมีสารไลโคปีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อเซลล์ต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะมะเขือเทศที่ปรุงสุก เช่น น้ำมะเขือเทศ ซุปมะเขือเทศ หรือมะเขือเทศย่าง จะยิ่งช่วยให้ร่างกายได้รับไลโคปีนได้มากกว่าการรับประทานมะเขือเทศสด จากการศึกษาในประเทศบราซิลพบว่าผู้บริโภคมะเขือเทศสด 50 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 10 สัปดาห์ สามารถลดความเสี่ยงต่อมลูกหมากโตได้ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับผู้ที่กินมะเขือเทศสุก เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ และพิซซ่าที่มีส่วนประกอบของมะเขือเทศ ที่ลดความเสี่ยงได้ถึง 35% ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มะเขือเทศแปรรูปวางจำหน่ายหลากหลาย การเลือกดื่มน้ำมะเขือเทศวันละ 1 แก้ว จึงเป็นวิธีป้องกันต่อมลูกหมากโตได้ดีอีกวิธีหนึ่ง

2.ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่

บลูเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่  แบล็กเบอร์รี่ และราสเบอร์รี่ รวมถึงลูกหม่อนและลูกหว้า ล้วนเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่ยอดเยี่ยม อีกทั้งยังช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ อันเป็นสาเหตุของการอักเสบภายในร่างกาย รวมถึงทำให้เกิดภาวะต่อมลูกหมากโตและเนื้องอกชนิดต่าง ๆ

3.แซลมอน

แซลมอนนั้นอุดมไปด้วยไขมันที่ดีต่อสุขภาพ มีโอเมก้า 3 และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านมะเร็งและลดการอักเสบในร่างกาย มีข้อมูลจากการศึกษาพบว่าการรับประทานปลาแซลมอนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง อาจช่วยลดความเสี่ยงอาการต่อมลูกหมากโต และสามารถชะลอการพัฒนาของเนื้องอกต่อมลูกหมากไปเป็นมะเร็ง หรือหยุดการลุกลามของโรคได้อีกด้วย นอกจากแซลมอนแล้ว ปลาเทราต์และปลาซาร์ดีน ก็มีโอเมก้า 3 เช่นกัน

4.บร็อคโคลี่และผักตระกูลกะหล่ำ

เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว และกะหล่ำดอกมีสารซัลโฟราเฟน (Sunforaphane) มีคุณสมบัติต้านมะเร็ง รวมถึงช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ล้างพิษของร่างกาย จากการศึกษาพบว่าการกินบร็อคโคลี่มากกว่าสัปดาห์ละครั้ง สามารถลดโอกาสในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากระยะ 3 และ 4 ได้ถึง 45% ซึ่งวิธีปรุงบร็อคโคลี่ที่ดีที่สุดคือ การนึ่งหรือผัดไม่เกิน 5 นาที หากผัดสุกเกินไปความสามารถในการต้านมะเร็งจะลดลง

5.ชาเขียว

ชาเขียวประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า แคทีชิน (Catechins) ซึ่งสามารถทำลายแบคทีเรียและไวรัสบางชนิด เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายเพื่อต่อสู้กับมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้งนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงสิ่งที่จะเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะได้อีกด้วย

6.ถั่ว

อุดมไปด้วยซีลีเนียมและสังกะสี ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานของต่อมลูกหมาก รวมถึงช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศชาย อีกทั้งยังพบว่าสังกะสีมีมากในหอยนางรมและอาหารทะเลอื่น ๆ

7.เห็ด

ช่วยลดอาการต่อมลูกหมากโตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเห็ดหอม ซึ่งอุดมด้วยเลนติแนน (Lentinan) ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพในการยับยั้ง หรือป้องกันการเติบโตของเซลล์เนื้องอกและมะเร็งได้ดี นอกจากนี้เห็ดอื่น ๆ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดหลินจือ และเห็ดไมตาเกะ ยังมีสารเออร์โกไธโอนีน (Ergothioneine) หรือสารแอนติออกซิแดนท์ที่มีคุณค่า ช่วยปกป้องเซลล์ทั่วร่างกาย รวมถึงต่อมลูกหมากจากความผิดปกติได้

8.เมล็ดฟักทอง

สามารถช่วยลดอาการต่อมลูกหมากโต โดยน้ำมันจากเมล็ดฟักทองประกอบด้วยไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) ซึ่งจัดว่าเป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมน (Steroid hormone) เพศชายที่ช่วยให้ต่อมลูกหมากทำงานได้ปกติ และป้องกันไม่ให้ฮอร์โมนกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ต่อมลูกหมากทำงานมากจนเกินไป น้ำมันเมล็ดฟักทองยังมีแคโรทีนอยด์และกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย

9.ทับทิม

อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและเอลลาจิแทนนิน (Ellagitannin) ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในการบำรุงต่อมลูกหมาก โดยสามารถชะลอการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมากได้

10.ขมิ้นชัน

เดิมนั้นขมิ้นชันถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้กับการอักเสบและโรคหอบหืด แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบคุณสมบัติต้านมะเร็งรวมถึงความสามารถในการต่อสู้กับมะเร็งต่อมลูกหมาก อีกทั้งยังมีการค้นพบอีกว่าหากนำขมิ้นชันมาปรุงร่วมกับผักตระกูลกะหล่ำจะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

1.ผลิตภัณฑ์นม

การบริโภคผลิตภัณฑ์นม เนย และชีสเป็นประจำเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อมลูกหมากโต

2.เนื้อแดง

การวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าการรับประทานเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะในปริมาณมาก เพิ่มความเสี่ยงภาวะต่อมลูกหมากโต รวมถึงเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอีกด้วย โดยเฉพาะปิ้งย่าง หมูกระทะ หมูย่างปรุงรสต่าง ๆ บนเตาถ่าน

3.โซเดียม

การบริโภคเกลือจำนวนมาก ทำให้ระบบทางเดินปัสสาวะทำงานหนัก เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะต่อมลูกหมากโต ซึ่งรวมถึงโซเดียมที่แฝงมาในอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง และอาหารแปรรูปอื่น ๆ เช่น เต้าเจี้ยว ผักดอง แฮม ไส้กรอก หมูยอ เป็นต้น

นอกจากการเลือกรับประทานอาหารเพื่อให้ห่างไกลต่อมลูกหมากโตแล้ว หากพบว่าการขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะขัด ต้องใช้เวลาเบ่ง ปัสสาวะไม่มีแรงพุ่ง หรือออกเป็นหยด ๆ อาจปวดปัสสาวะบ่อย อั้นไม่อยู่ รวมถึงปัสสาวะเป็นเลือด ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต และรับการรักษา รวมถึงปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง และที่สำคัญควรมีการตรวจต่อมลูกหมากทุกครั้งที่มีการตรวจสุขภาพประจำปี

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.samitivejhospitals.com

349690331_974613676887387_4107096216969015339_n

ปาร์ตี้ปิ้งย่าง เสี่ยงเซลล์มะเร็ง

ทุกคนรู้ไหมว่า เซลล์มะเร็ง พบได้ในอาหารปิ้งย่าง เนื่องจากเป็นแหล่งของตัวกระตุ้นเซลล์มะเร็งชั้นดีสองตัว หนึ่งคือสารในกลุ่มไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons หรือ PAH) พบในควันที่เกิดจากไขมันสัตว์ที่โดนความร้อนสูง สองคือสารในกลุ่มเอมีนส์ (Heterocyclic amines) พบมากในเนื้อแดงที่ถูกความร้อนสูง

หากจำเป็นต้องรับประทานอาหารปิ้งย่าง แต่ไม่อยากอ้วนและเสี่ยงต่อมะเร็ง แนะนำให้ปฏิบัติตามดังนี้

  • เลือกสถานที่ปิ้งย่างที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี หรือมีเครื่องดูดควันคุณภาพสูง
  • เน้นรับประทานเป็นเนื้อปลา หรือไก่ไม่ติดหนัง
  • เลี่ยงการรับประทานเนื้อแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบค่อน ไส้กรอกอีสาน
  • อย่าใช้ไฟแรง อย่าปิ้งจนเกรียม และหมั่นทำความสะอาดคราบเขม่าและรอยไหม้ต่างๆที่ติดอยู่บริเวณตะแกรง
  • หมักเนื้อด้วยน้ำมะนาว สะระแหน่ มิ้นท์ โรสแมรี่ สมุนไพรเหล่านี้จะช่วยลดการเกิดของสารก่อมะเร็งในกลุ่มเอมีนส์
  • ตัดเนื้อส่วนที่มีมันออกก่อนนำไปปิ้งย่าง เพื่อลดการเกิดสารก่อมะเร็งกลุ่มไฮโดรคาร์บอน
  • เน้นรับประทานผักสดๆควบคู่ด้วยเสมอ
  • เลือกดื่มน้ำเปล่า แทนการดื่มน้ำอัดลมหรือสุรา

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ปิ้งย่าง-มะเร็ง