กินแล้วนอน_ระวังกรดไหลย้อนมาเยือน

กินแล้วนอน ระวังกรดไหลย้อนมาเยือน

ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน จึงทำให้พฤติกรรมการกินของเราเปลี่ยนแปลงตามไป บางคนก็กินไม่เป็นเวลา บางคนกว่าจะเลิกงานกลับถึงบ้านก็ดึกแล้ว และกว่าจะได้กินข้าว แถมพอ กินแล้วนอนเลย พอนาน ๆ ไปก็จะเริ่มมีอาการจุกเสียดแน่นคล้ายอาหารไม่ย่อย จุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ แสบร้อนบริเวณอก บางครั้ง มี เรอ คลื่นไส้ อาจมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ อาการเหล่านี้บ่งบอกว่า คุณกำลังเป็นกรดไหลย้อนนั่นเอง

การกินแล้วนอน ทำไมถึงเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน

เมื่อกินอาหารเสร็จ กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารจะเปิดหลังจากที่เรากลืน ทำให้อาหารสามารถที่จะเคลื่อนผ่านจากหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหารได้ และจะปิดอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้ามาสู่หลอดอาหาร แต่ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดนี้ทำงานผิดปกติหรือมีความแข็งแรงลดลงจะทำให้อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมาที่หลอดอาหารได้

กรดไหลย้อน โรคนี้พบได้บ่อย แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญ ปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรัง บางครั้งซื้อยามาทานเองและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ เกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหาร บางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้

วิธีป้องกันกรดไหลย้อน

1.หลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้
  • อาหารที่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสจัด เผ็ดจัด มีความเป็นกรด เช่น มะเขือเทศ
  • อาหารที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน เช่น อาหารที่ไขมันสูง อาหารทอด อาหารผัดน้ำมันมาก ๆ
  • อาหารและเครื่องดื่มที่มีสารช่วยการคลายตัวของกล้ามเนื้อ เพราะจะลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร เช่น ช็อกโกแลต เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • อาหารที่กระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องดื่มมีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
2.หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหาร

ควรรอให้ทานเสร็จแล้วประมาณ 10 นาทีค่อยดื่มน้ำ เพื่อไม่ให้ มีปริมาณอาหารและของเหลวในกระเพาะอาหารมากเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อกรดไหลย้อน

3.ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง

วันละ 4-5 มื้อแทนอาหารมื้อใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาหารและน้ำในกระเพาะอาหารมากเกินไป

4.ควรทานมื้อเย็นให้เร็วขึ้น

ไม่รับประทานในปริมาณมากและไม่ควรนอนหลังรับประทานอาหารทันที ควรเข้านอนหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

5.ไม่ควรพูดไปกินไป

เพราะระหว่างพูดจะกลืนลมลงท้องมากขึ้น

6.การเคี้ยวหมากฝรั่ง

มีส่วนเพิ่มการหลั่งน้ำลาย ทำให้กลืนน้ำลายลงไปมากขึ้น และเพิ่มการกลืนลมลงไปในท้อง

7.ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป

ถ้าน้ำหนักมาก ให้ลดน้ำหนัก เพราะคนอ้วนมีความเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนมากกว่าคนผอม

8.สวมเสื้อผ้าที่ไม่คับจนเกินไป

เพราะเสื้อผ้าคับจะเพิ่มแรงดันในช่องท้อง

9.ไม่ควรซื้อยากินเอง

เนื่องจากยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ยาลดความดันบางประเภท ยาทางจิตประสาท ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นต้น จะทำให้หูรูดคลายตัว หรือมีกรดหลั่งมากขึ้น

10.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

เพราะมีสารพิษ เพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร และอาจทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลง

11.นอนตะแคงซ้าย

หนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น หรือนอนเตียงเอียงให้ด้านหัวสูงกว่าด้านเท้า

ช่วยลดความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายหลั่งกรดมากขึ้น

ผู้ที่เป็นโรคนี้ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว อาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องได้รับยาในการรักษา และควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.samitivejhospitals.com

ปากกาลดน้ำหนัก

ปากกาลดน้ำหนัก ลดความอ้วนได้จริง?

หนึ่งในวิธีใหม่ที่ได้รับความนิยมคือการใช้ปากกาลดน้ำหนักชนิดฉีดใต้ผิวหนัง ซึ่งมีสารเคมีที่คล้ายกับฮอร์โมนในร่างกาย ที่ช่วยลดน้ำหนักได้มากกว่า 10% ในบางกรณี โดยมีผลข้างเคียงเล็กน้อยเช่น คลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร

กลไกการออกฤทธิ์ของยา

ยาชนิดนี้มีความคล้ายกับฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ในร่างกาย หลังจากยาเข้าสู่กระแสเลือด ส่งสัญญาณลดความอยากอาหารไปที่สมอง ทำให้หิวน้อยลง ลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ช่วยให้อาหารอยู่ในกระเพาะนานขึ้น จึงทานอาหารได้น้อยลง กระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินมาช่วยปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด โดยไม่ทำให้น้ำตาลตกหรือวูบ เพราะยาจะออกฤทธิ์ก็ต่อเมื่อเรากินอาหารเข้าไปแล้วเท่านั้น อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ้าง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเดิน หรือท้องผูก แต่อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน และผู้ใช้ยาจะสามารถปรับตัวกับยาได้เมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์

ข้อห้ามใช้ยา

ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งไทรอยด์ โรคไทรอยด์ เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบ ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ผู้สูงอายุ ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด ผู้ที่เป็นโรคตับหรือไต

อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจจะพบได้

เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเดิน หรือท้องผูก แต่อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน และผู้ใช้ยาจะสามารถปรับตัวกับยาได้เมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ปากกาลดน้ำหนักเป็นเพียงแค่แนวทางหนึ่งในการช่วยลดน้ำหนัก เหนือสิ่งอื่นใด คือ การควบคุมอาหาร รับประทานแต่ของที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก ไม่เครียด จะช่วยส่งเสริมให้เป้าหมายของการลดน้ำหนักให้สำเร็จไวขึ้น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.samitivejhospitals.com

PM-2.5-ภัยร้าย-ทำลายปอด

PM 2.5 ภัยร้าย ทำลายปอด

ปัจจุบันอากาศในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตเมือง ทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงตามเมืองสำคัญต่าง ๆ เต็มไปด้วยฝุ่นมลพิษมากขึ้น ซึ่งค่ามลภาวะทางอากาศของประเทศสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก

แต่ปัญหาวิกฤติที่กำลังวิตกคือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน (Particulate Matter 2.5 – PM2.5) ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทำให้ขาดความตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ฝุ่นละออง PM 2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ของทั้งรถยนต์ใหม่และเก่า มักมีปริมาณสูงสุดในช่วงรถติด ในช่วงเช้าและเย็นของวันทำงาน โดยมักจะเกิดในช่วงฤดูหนาวที่อากาศนิ่งและแห้ง ส่งผลให้ฝุ่นไม่ลอยขึ้นที่สูง อีกทั้งปัจจุบันกรุงเทพฯ กำลังประสบปัญหาลมพัดผ่านได้ยาก อากาศหยุดนิ่ง เนื่องจากมีตึกสูงปิดกั้นทางลม รวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้างเกือบทุกพื้นที่

สาเหตุส่วนใหญ่มาจาก การเผาไหม้ (Combustion particles) เช่น
  • การเผาขยะ เผาป่า เผาหญ้า
  • ท่อไอเสียรถยนต์ หรือเครื่องยนต์
  • การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน หรือ เชื้อเพลิงในครัวเรือน
  • การเผาขยะ เผาป่า เผาหญ้า
ภัยร้ายจากฝุ่น PM2.5

ด้วยขนาดที่เล็กมาก ของฝุ่น PM 2.5 ทำให้สามารถลอดผ่านกลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ได้แก่ ขนจมูก ผิวหนัง เยื่อเมือกในหลอดลม รวมไปถึงเซลล์ที่ทำหน้าที่ดักจับสิ่งแปลกปลอมในถุงลม เข้าสู่ถุงลมปอดและซึมเข้ากระแสเลือด ทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย

ส่งผลต่อทางเดินหายใจและปอด

มลพิษในอากาศส่งผลโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจและปอด ยิ่งเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ยิ่งสามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ หรือเป็นสาเหตุให้คนปกติเป็นหอบหืดได้เช่นกัน หากไม่รีบแก้ไข หรือไม่รู้ตัวว่าสูดเอามลพิษขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและปอดจนสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดได้ในที่สุด

ส่งผลต่อหัวใจ

การสูดหายใจเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กติดต่อกันระยะหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการตะกอนภายในหลอดเลือด จนทำให้เกิดหัวใจวาย หรือหลอดเลือดสมองตีบได้ ทั้งนี้การสัมผัสมลพิษทางอากาศยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เต้นผิดจังหวะ และอาจรุนแรงจนส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลัน

ส่งผลต่อสมอง

เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดการสะสมขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเลือดมีความหนืด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตก เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตได้

กลุ่มเสี่ยงอันตราย
  • เด็ก
  • สตรีมีครรภ์
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว
การดูแลและป้องกันตนเอง
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรอยู่ในบ้านหรืออาคารที่มีเครื่องฟอกอากาศ
  • สวมหน้ากากอนามัยชนิดที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่นหน้ากาก N95 เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน
  • ควรทำความสะอาดผิว / ล้างหน้าให้สะอาดทันที หลังจากที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นมลพิษ
  • สวมเสื้อแขนยาว เพื่อปกป้องผิวไม่ให้ระคายเคืองของผิว
  • ทาครีมบำรุงผิว เพื่อให้ความชุ่มชื้นและทำให้เกราะป้องกันผิวแข็งแรงขึ้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานผลไม้หรือวิตามินที่สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี ดื่มน้ำสะอาดเพื่อช่วยในการขับสารพิษจากร่างกาย

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานที่หนาแน่นของมลพิษทางอากาศ หรือไม่แน่ใจการป้องกันตนได้ผลหรือไม่ โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มเสี่ยง หากพบอาการ เช่น หายใจลำบาก หน้ามืด อ่อนแรง หรือไอติดต่อกันรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.samitivejhospitals.com

กินอย่างไรให้ห่างไกลต่อมลูกหมากโต

กินอย่างไร ให้ห่างไกลต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมากโต ถึงแม้จะไม่ใช่มะเร็งและไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สามารถรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการปัสสาวะบ่อย รวมถึงสร้างความกังวลต่อจิตใจถึงความเสื่อมถอยของสมรรถภาพทางเพศ และหากไม่รีบทำการรักษาปล่อยจนอาการเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนจากอาการไตวายได้

ดังนั้น… ผู้ชายวัย 40 ขึ้นไปควรดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการหมั่นสังเกตความผิดปกติของระบบขับถ่ายปัสสาวะ พร้อมทั้งเข้ารับการตรวจต่อมลูกหมากพร้อมตรวจสุขภาพประจำปี และเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยป้องกันต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมาก

อาหารที่แนะนำ ป้องกันต่อมลูกหมากโต

1.มะเขือเทศ

มะเขือเทศนั้นมีสารไลโคปีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อเซลล์ต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะมะเขือเทศที่ปรุงสุก เช่น น้ำมะเขือเทศ ซุปมะเขือเทศ หรือมะเขือเทศย่าง จะยิ่งช่วยให้ร่างกายได้รับไลโคปีนได้มากกว่าการรับประทานมะเขือเทศสด จากการศึกษาในประเทศบราซิลพบว่าผู้บริโภคมะเขือเทศสด 50 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 10 สัปดาห์ สามารถลดความเสี่ยงต่อมลูกหมากโตได้ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับผู้ที่กินมะเขือเทศสุก เช่น ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ และพิซซ่าที่มีส่วนประกอบของมะเขือเทศ ที่ลดความเสี่ยงได้ถึง 35% ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มะเขือเทศแปรรูปวางจำหน่ายหลากหลาย การเลือกดื่มน้ำมะเขือเทศวันละ 1 แก้ว จึงเป็นวิธีป้องกันต่อมลูกหมากโตได้ดีอีกวิธีหนึ่ง

2.ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่

บลูเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่  แบล็กเบอร์รี่ และราสเบอร์รี่ รวมถึงลูกหม่อนและลูกหว้า ล้วนเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่ยอดเยี่ยม อีกทั้งยังช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ อันเป็นสาเหตุของการอักเสบภายในร่างกาย รวมถึงทำให้เกิดภาวะต่อมลูกหมากโตและเนื้องอกชนิดต่าง ๆ

3.แซลมอน

แซลมอนนั้นอุดมไปด้วยไขมันที่ดีต่อสุขภาพ มีโอเมก้า 3 และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านมะเร็งและลดการอักเสบในร่างกาย มีข้อมูลจากการศึกษาพบว่าการรับประทานปลาแซลมอนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง อาจช่วยลดความเสี่ยงอาการต่อมลูกหมากโต และสามารถชะลอการพัฒนาของเนื้องอกต่อมลูกหมากไปเป็นมะเร็ง หรือหยุดการลุกลามของโรคได้อีกด้วย นอกจากแซลมอนแล้ว ปลาเทราต์และปลาซาร์ดีน ก็มีโอเมก้า 3 เช่นกัน

4.บร็อคโคลี่และผักตระกูลกะหล่ำ

เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว และกะหล่ำดอกมีสารซัลโฟราเฟน (Sunforaphane) มีคุณสมบัติต้านมะเร็ง รวมถึงช่วยเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ล้างพิษของร่างกาย จากการศึกษาพบว่าการกินบร็อคโคลี่มากกว่าสัปดาห์ละครั้ง สามารถลดโอกาสในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากระยะ 3 และ 4 ได้ถึง 45% ซึ่งวิธีปรุงบร็อคโคลี่ที่ดีที่สุดคือ การนึ่งหรือผัดไม่เกิน 5 นาที หากผัดสุกเกินไปความสามารถในการต้านมะเร็งจะลดลง

5.ชาเขียว

ชาเขียวประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า แคทีชิน (Catechins) ซึ่งสามารถทำลายแบคทีเรียและไวรัสบางชนิด เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายเพื่อต่อสู้กับมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้งนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงสิ่งที่จะเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะได้อีกด้วย

6.ถั่ว

อุดมไปด้วยซีลีเนียมและสังกะสี ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานของต่อมลูกหมาก รวมถึงช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศชาย อีกทั้งยังพบว่าสังกะสีมีมากในหอยนางรมและอาหารทะเลอื่น ๆ

7.เห็ด

ช่วยลดอาการต่อมลูกหมากโตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเห็ดหอม ซึ่งอุดมด้วยเลนติแนน (Lentinan) ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพในการยับยั้ง หรือป้องกันการเติบโตของเซลล์เนื้องอกและมะเร็งได้ดี นอกจากนี้เห็ดอื่น ๆ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดหลินจือ และเห็ดไมตาเกะ ยังมีสารเออร์โกไธโอนีน (Ergothioneine) หรือสารแอนติออกซิแดนท์ที่มีคุณค่า ช่วยปกป้องเซลล์ทั่วร่างกาย รวมถึงต่อมลูกหมากจากความผิดปกติได้

8.เมล็ดฟักทอง

สามารถช่วยลดอาการต่อมลูกหมากโต โดยน้ำมันจากเมล็ดฟักทองประกอบด้วยไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) ซึ่งจัดว่าเป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมน (Steroid hormone) เพศชายที่ช่วยให้ต่อมลูกหมากทำงานได้ปกติ และป้องกันไม่ให้ฮอร์โมนกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ต่อมลูกหมากทำงานมากจนเกินไป น้ำมันเมล็ดฟักทองยังมีแคโรทีนอยด์และกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย

9.ทับทิม

อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและเอลลาจิแทนนิน (Ellagitannin) ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งในการบำรุงต่อมลูกหมาก โดยสามารถชะลอการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมากได้

10.ขมิ้นชัน

เดิมนั้นขมิ้นชันถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้กับการอักเสบและโรคหอบหืด แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบคุณสมบัติต้านมะเร็งรวมถึงความสามารถในการต่อสู้กับมะเร็งต่อมลูกหมาก อีกทั้งยังมีการค้นพบอีกว่าหากนำขมิ้นชันมาปรุงร่วมกับผักตระกูลกะหล่ำจะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

1.ผลิตภัณฑ์นม

การบริโภคผลิตภัณฑ์นม เนย และชีสเป็นประจำเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อมลูกหมากโต

2.เนื้อแดง

การวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าการรับประทานเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะในปริมาณมาก เพิ่มความเสี่ยงภาวะต่อมลูกหมากโต รวมถึงเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอีกด้วย โดยเฉพาะปิ้งย่าง หมูกระทะ หมูย่างปรุงรสต่าง ๆ บนเตาถ่าน

3.โซเดียม

การบริโภคเกลือจำนวนมาก ทำให้ระบบทางเดินปัสสาวะทำงานหนัก เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะต่อมลูกหมากโต ซึ่งรวมถึงโซเดียมที่แฝงมาในอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง และอาหารแปรรูปอื่น ๆ เช่น เต้าเจี้ยว ผักดอง แฮม ไส้กรอก หมูยอ เป็นต้น

นอกจากการเลือกรับประทานอาหารเพื่อให้ห่างไกลต่อมลูกหมากโตแล้ว หากพบว่าการขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะขัด ต้องใช้เวลาเบ่ง ปัสสาวะไม่มีแรงพุ่ง หรือออกเป็นหยด ๆ อาจปวดปัสสาวะบ่อย อั้นไม่อยู่ รวมถึงปัสสาวะเป็นเลือด ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต และรับการรักษา รวมถึงปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง และที่สำคัญควรมีการตรวจต่อมลูกหมากทุกครั้งที่มีการตรวจสุขภาพประจำปี

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.samitivejhospitals.com

Essential_tremor

อาการมือสั่น อย่ามองข้าม

เพราะอาการมือไม้สั่น… มันไม่ธรรมดา

อาการมือสั่นเป็นเรื่องที่หลายคนอาจเคยมองข้าม แต่ในบางกรณีอาจสะท้อนถึงความผิดปกติของระบบประสาท มาดู 4 ลักษณะมือสั่น พร้อมสาเหตุที่ต้องรู้

  1. Resting Tremor

สั่นขณะอยู่นิ่ง ๆ โดยไม่ตั้งใจขยับ พบบ่อยในโรคพาร์กินสัน เกิดจากความเสื่อมของสมองส่วน Substantia Nigra ที่ผลิตสารโดปามีนลดลง อาการมักพบในผู้สูงอายุ แต่บางครั้งอาจเกิดกับคนอายุน้อย (Young-onset Parkinson’s Disease)

2. Intention Tremor

สั่นเมื่อพยายามทำกิจกรรมที่มีเป้าหมาย เช่น การหยิบของ มักเกิดจากความผิดปกติในสมองน้อย (Cerebellum) หรือก้านสมอง ซึ่งอาจเกิดจากขาดเลือด เนื้องอก หรือการใช้ยากันชักเกินขนาด

3. Postural Tremor

สั่นขณะต้านแรงโน้มถ่วง เช่น ชูแขน สาเหตุอาจมาจากความเครียด ไทรอยด์เป็นพิษ น้ำตาลในเลือดต่ำ การถอนพิษสุรา หรือโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor)

4. Psychogenic Tremor

สั่นที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ เกิดทันทีทันใด อาการมักดีขึ้นเองเมื่อผ่อนคลาย

ขอบคุณที่มา : www.pt.mahidol.ac.th

1-1_นอนกรน

นอนกรน เป็นเรื่องธรรมดาจริงหรือ?

นอนกรน ไม่ใช่เรื่องตลก?

หลายคนอาจจะคิดว่าการกรนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป ใคร ๆ ก็กรนได้ ไม่ว่าจะตัวเราเองหรือคนใกล้ชิดจนกลายเป็นเรื่องที่เรามองว่า ‘ธรรมดา’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การกรนนั้นไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดาอย่างที่คิด มันเป็นสัญญาณเตือนที่แสดงให้เห็นว่าคุณอาจกำลังมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับอยู่ (Obstructive Sleep Apnea) ซึ่งภาวะนี้อันตรายกว่าที่หลายคนคิด!

ทำไมถึงเกิดการกรน?

การกรนเกิดขึ้นเมื่อทางเดินหายใจส่วนต้นแคบลงในขณะหลับ สาเหตุมาจากกล้ามเนื้อในทางเดินหายใจหย่อนตัวลง ลิ้นและลิ้นไก่ตกไปด้านหลัง ส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบ เมื่ออากาศผ่านเข้าออกจึงเกิดเป็นเสียงกรน บางคนอาจมีเสียงกรนดังต่อเนื่อง แต่ถ้าทางเดินหายใจแคบลงมากขึ้น เสียงกรนจะหายเป็นช่วง ๆ มีอาการสําลักอากาศหรือเสียง “คร่อก” ตามมา ซึ่งเป็นอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร?

ภาวะนี้ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ส่งผลให้คุณภาพการนอนลดลง นอกจากการทำให้หลับไม่เต็มอิ่มแล้ว ภาวะนี้ยังมีผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ เช่น ปัญหาระบบหัวใจและหลอดเลือด เกิดภาวะหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดสมองและหัวใจแข็งตัว สมองทำงานไม่เต็มที่ สมองต้องสะดุ้งตื่นเพื่อให้ร่างกายหายใจ ทำให้นอนไม่ต่อเนื่อง ประสิทธิภาพการทำงานของสมองและความจำถดถอยลง ร่างกายอ่อนเพลีย ทำให้ไม่สดชื่น เหนื่อยง่ายในระหว่างวัน และมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา

จะทำอย่างไรเมื่อมีอาการกรน?

ถ้าคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการกรนเสียงดัง หรือมีอาการหายใจสะดุดในขณะหลับ อย่ามองข้าม ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสอบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ เพราะการปล่อยให้ภาวะนี้ดำเนินต่อไปอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงในระยะยาว การรักษาภาวะนี้สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การปรับพฤติกรรมการนอน การใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ หรือในบางกรณีอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ

สุขภาพการนอนที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญของการมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง อย่าปล่อยให้การกรนกลายเป็นเรื่องปกติ ถ้าคุณพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการกรนที่ผิดปกติ ควรรีบตรวจสอบและหาทางแก้ไข เพื่อการนอนหลับที่มีคุณภาพและชีวิตที่ดีขึ้น

1-1_โรครองช้ำ

โรครองช้ำ ความเจ็บที่ไม่ควรมองข้าม

“อาการปวดฝ่าเท้า” แม้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณของ “โรครองช้ำ” ซึ่งสามารถรบกวนชีวิตประจำวันอย่างมาก เนื่องจากทำให้การเดินลำบาก

เพราะ… มีอาการอักเสบและปวดบวมใต้ฝ่าเท้าเหมือนถูกเข็มทิ่ม หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการอาจลุกลามจนเส้นเอ็นฉีกขาด และอาจต้องถึงขั้นผ่าตัด

สาเหตุของโรครองช้ำ มาจากการใช้งานข้อเท้ามากเกินไป

เช่น การเดินหรือวิ่งนาน ๆ ใส่รองเท้าส้นสูงบ่อย ๆ หรือมีน้ำหนักตัวมาก บางคนที่มีปัญหาเท้าผิดรูป เช่น อุ้งเท้าแบน หรือเท้าโก่ง ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมถึงการออกกำลังกายบางประเภท เช่น การเต้นแอโรบิค หรือปั่นจักรยาน ก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน

การป้องกันโรครองช้ำ ทำได้โดยเลือกรองเท้าที่เหมาะสม

ลดกิจกรรมที่ต้องใช้ฝ่าเท้าเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องใช้รองเท้าส้นสูง ควรหมั่นพักเท้า และยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ ผู้ที่มีรูปเท้าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำรองเท้าพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยง

หลายคนมองว่าโรคนี้ไม่อันตรายและรักษาได้เอง

แต่ในความเป็นจริง ควรรีบพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและป้องกันอาการเรื้อรัง การรักษาที่เหมาะสมจะช่วยให้คุณกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ ใส่รองเท้าสวย ๆ และออกกำลังกายได้อย่างสบายใจอีกครั้ง

1-1_sinusitis

แค่เป็นหวัด… หรือไซนัสอักเสบ?

เราจะทราบได้อย่างไรว่า เป็นเพียงไข้หวัด หรือ ไซนัสอักเสบ?

ปกติแล้วไข้หวัดสามารถหายได้ภายใน 7-10 วัน ถ้าเป็นไข้หวัดเกิน 10 วันขึ้นไป แล้วยังมีอาการบ่งชี้ที่บอกว่าคุณกำลัง “เป็นไซนัส” คือ แน่นจมูก, ปวดบริเวณไซนัส และมีน้ำมูกหรือเสมหะข้น ก็ควรไปพบแพทย์

ไซนัสอักเสบหลังการติดเชื้อไวรัส (Post-Viral Acute Rhinosiusitis)

  • มีอาการหวัดน้ำมูกคัดจมูกที่แย่ลงหลังจากเริ่มมีอาการ 5 วัน
  • มีอาการหวัดน้ำมูกคัดจมูกติดต่อกันนานเกิน 10 วัน

ไซนัสอักเสบจากเชือแบคทีเรีย (Acute Bacterial Rhinosinusitis)

  • ไข้ > 38°C (Fever)
  • อาการแย่ลงอีกครั้งหลังจากที่เริ่มดีขึ้น (Double sickening)
  • น้ำมูกเปลี่ยนสี (Discolored mucus)
  • ปวดใบหน้าและโพรงไซนัสมาก (Severe local pain)
  • ปวดใบหน้าและโพรงไซนัสมาก (Severe local pain)

ดังนั้นหากพบว่ามีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล แต่อาการดังกล่าวแย่ลงกว่าเดิมหลัง 5 วัน หรือไม่หายหลัง 10 วันไปแล้ว มีโอกาสที่การอักเสบนั้นจะเข้าสู่โพรงไซนัส และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในโพรงจมูกและไซนัสร่วมด้วย รวมถึง หากมีอาการ ไข้สูง น้ำมูกมีสีเขียว หรือปวดบริเวณใบหน้า ก็มีโอกาสที่จะเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันได้มากขึ้น

1-1Cover_Text-Neck-Syndrome

ก้มเล่นมือถือนาน ๆ เสี่ยงปวดคอเรื้อรัง

“Text Neck Syndrome” ก้มเล่นมือถือบ่อย ๆ เสี่ยงปวดคอเรื้อรัง!

รู้หรือไม่? การก้มเล่นมือถือบ่อย ๆ อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็น “Text Neck Syndrome” อาการปวดคอ บ่า ไหล่ ที่มาพร้อมกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ การก้มคอซ้ำ ๆ โดยเฉพาะในท่าทางที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้กระดูกสันหลังส่วนคอและกล้ามเนื้อรอบ ๆ เกิดความเครียดอย่างต่อเนื่อง

เมื่อคุณก้มคอ 15 องศา น้ำหนักที่กระทำต่อคอจะเพิ่มขึ้นเป็น 12 กิโลกรัม และเมื่อก้มคอ 60 องศา น้ำหนักจะพุ่งสูงถึง 27 กิโลกรัมเลยทีเดียว! ส่งผลให้กล้ามเนื้อและหมอนรองกระดูกเสื่อมเร็วขึ้น โดยเฉพาะในวัยรุ่นและเด็กที่มักใช้มือถือมากกว่า 5-7 ชั่วโมงต่อวัน

อาการของ Text Neck Syndrome นอกจากจะปวดคอแล้ว คุณยังอาจมีอาการปวดหลังส่วนบน ปวดไหล่ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ชามือ หรือแม้กระทั่งกล้ามเนื้ออ่อนแรง หากปล่อยไว้นาน อาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในอนาคต

วิธีป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการก้มคอมากเกินไปขณะใช้มือถือหรือแท็บเล็ต
  • ปรับระดับหน้าจอให้อยู่ในแนวสายตา
  • พักเบรกทุก 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ
  • ใช้อุปกรณ์เสริม เช่น ที่ตั้งแท็บเล็ตหรือคีย์บอร์ดไร้สาย เพื่อลดการยกศีรษะไปข้างหน้า
  • ลดการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นาน ๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

ขอบคุณที่มา : มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด

เท้าเหม็น_ไม่ใช่เรื่องตลก

เท้าเหม็น ไม่ใช่เรื่องตลก

ทำไม…เท้าถึงเหม็น

โรคเท้าเหม็น หรือ Pitted Keratolysis เกิดจากสภาวะที่เท้ามีเหงื่อออกมากเกินไป (Hyperhidrosis) หรือมีความอับชื้นเป็นเวลานาน จึงเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ตามปกติบนผิวหนังของเรา

แบคทีเรียเหล่านี้ จะเติบโตได้ดีในสภาวะที่อับชื้น และมีผลกระทบสองประการที่ทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ การย่อยสลายผิวหนังชั้นนอก ทำให้เกิดลักษณะเป็นร่องหรือหลุมที่เท้า สร้างสารที่มีกลิ่นเหม็น เช่น Sulfur compound ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของกลิ่นเท้า

การป้องกันเท้าเหม็น

  • เลือกรองเท้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี
  • ใช้ถุงเท้าทำจากผ้าที่ดูดซับเหงื่อได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย หรือผ้าขนสัตว์
  • สวมรองเท้าแตะเปิดนิ้วเท้าทุกครั้งที่ทำได้
  • รักษาความสะอาดของเท้า ล้างเท้าด้วยสบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดวันละสองครั้ง
  • ทาครีมบำรุงเท้าอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง
  • อย่าสวมรองเท้าคู่เดียวกัน ติดกันสองวัน ควรทิ้งไว้ให้แห้งจากความชื้นก่อน
  • อย่าใช้รองเท้าหรือผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  www.samitivejhospitals.com