กินแล้วนอน_ระวังกรดไหลย้อนมาเยือน

กินแล้วนอน ระวังกรดไหลย้อนมาเยือน

ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน จึงทำให้พฤติกรรมการกินของเราเปลี่ยนแปลงตามไป บางคนก็กินไม่เป็นเวลา บางคนกว่าจะเลิกงานกลับถึงบ้านก็ดึกแล้ว และกว่าจะได้กินข้าว แถมพอ กินแล้วนอนเลย พอนาน ๆ ไปก็จะเริ่มมีอาการจุกเสียดแน่นคล้ายอาหารไม่ย่อย จุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ แสบร้อนบริเวณอก บางครั้ง มี เรอ คลื่นไส้ อาจมีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ อาการเหล่านี้บ่งบอกว่า คุณกำลังเป็นกรดไหลย้อนนั่นเอง

การกินแล้วนอน ทำไมถึงเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน

เมื่อกินอาหารเสร็จ กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารจะเปิดหลังจากที่เรากลืน ทำให้อาหารสามารถที่จะเคลื่อนผ่านจากหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหารได้ และจะปิดอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้ามาสู่หลอดอาหาร แต่ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดนี้ทำงานผิดปกติหรือมีความแข็งแรงลดลงจะทำให้อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมาที่หลอดอาหารได้

กรดไหลย้อน โรคนี้พบได้บ่อย แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญ ปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรัง บางครั้งซื้อยามาทานเองและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ เกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหาร บางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้

วิธีป้องกันกรดไหลย้อน

1.หลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้
  • อาหารที่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสจัด เผ็ดจัด มีความเป็นกรด เช่น มะเขือเทศ
  • อาหารที่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารได้นาน เช่น อาหารที่ไขมันสูง อาหารทอด อาหารผัดน้ำมันมาก ๆ
  • อาหารและเครื่องดื่มที่มีสารช่วยการคลายตัวของกล้ามเนื้อ เพราะจะลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร เช่น ช็อกโกแลต เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • อาหารที่กระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องดื่มมีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
2.หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหาร

ควรรอให้ทานเสร็จแล้วประมาณ 10 นาทีค่อยดื่มน้ำ เพื่อไม่ให้ มีปริมาณอาหารและของเหลวในกระเพาะอาหารมากเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อกรดไหลย้อน

3.ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง

วันละ 4-5 มื้อแทนอาหารมื้อใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาหารและน้ำในกระเพาะอาหารมากเกินไป

4.ควรทานมื้อเย็นให้เร็วขึ้น

ไม่รับประทานในปริมาณมากและไม่ควรนอนหลังรับประทานอาหารทันที ควรเข้านอนหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

5.ไม่ควรพูดไปกินไป

เพราะระหว่างพูดจะกลืนลมลงท้องมากขึ้น

6.การเคี้ยวหมากฝรั่ง

มีส่วนเพิ่มการหลั่งน้ำลาย ทำให้กลืนน้ำลายลงไปมากขึ้น และเพิ่มการกลืนลมลงไปในท้อง

7.ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป

ถ้าน้ำหนักมาก ให้ลดน้ำหนัก เพราะคนอ้วนมีความเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนมากกว่าคนผอม

8.สวมเสื้อผ้าที่ไม่คับจนเกินไป

เพราะเสื้อผ้าคับจะเพิ่มแรงดันในช่องท้อง

9.ไม่ควรซื้อยากินเอง

เนื่องจากยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ยาลดความดันบางประเภท ยาทางจิตประสาท ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เป็นต้น จะทำให้หูรูดคลายตัว หรือมีกรดหลั่งมากขึ้น

10.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

เพราะมีสารพิษ เพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร และอาจทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลง

11.นอนตะแคงซ้าย

หนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น หรือนอนเตียงเอียงให้ด้านหัวสูงกว่าด้านเท้า

ช่วยลดความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายหลั่งกรดมากขึ้น

ผู้ที่เป็นโรคนี้ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว อาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องได้รับยาในการรักษา และควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.samitivejhospitals.com