ปัจจุบันอากาศในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตเมือง ทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงตามเมืองสำคัญต่าง ๆ เต็มไปด้วยฝุ่นมลพิษมากขึ้น ซึ่งค่ามลภาวะทางอากาศของประเทศสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก
แต่ปัญหาวิกฤติที่กำลังวิตกคือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน (Particulate Matter 2.5 – PM2.5) ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทำให้ขาดความตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ฝุ่นละออง PM 2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ของทั้งรถยนต์ใหม่และเก่า มักมีปริมาณสูงสุดในช่วงรถติด ในช่วงเช้าและเย็นของวันทำงาน โดยมักจะเกิดในช่วงฤดูหนาวที่อากาศนิ่งและแห้ง ส่งผลให้ฝุ่นไม่ลอยขึ้นที่สูง อีกทั้งปัจจุบันกรุงเทพฯ กำลังประสบปัญหาลมพัดผ่านได้ยาก อากาศหยุดนิ่ง เนื่องจากมีตึกสูงปิดกั้นทางลม รวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้างเกือบทุกพื้นที่
สาเหตุส่วนใหญ่มาจาก การเผาไหม้ (Combustion particles) เช่น
- การเผาขยะ เผาป่า เผาหญ้า
- ท่อไอเสียรถยนต์ หรือเครื่องยนต์
- การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน หรือ เชื้อเพลิงในครัวเรือน
- การเผาขยะ เผาป่า เผาหญ้า

ภัยร้ายจากฝุ่น PM2.5
ด้วยขนาดที่เล็กมาก ของฝุ่น PM 2.5 ทำให้สามารถลอดผ่านกลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ได้แก่ ขนจมูก ผิวหนัง เยื่อเมือกในหลอดลม รวมไปถึงเซลล์ที่ทำหน้าที่ดักจับสิ่งแปลกปลอมในถุงลม เข้าสู่ถุงลมปอดและซึมเข้ากระแสเลือด ทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
ส่งผลต่อทางเดินหายใจและปอด
มลพิษในอากาศส่งผลโดยตรงกับระบบทางเดินหายใจและปอด ยิ่งเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ยิ่งสามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายและรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ หรือเป็นสาเหตุให้คนปกติเป็นหอบหืดได้เช่นกัน หากไม่รีบแก้ไข หรือไม่รู้ตัวว่าสูดเอามลพิษขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและปอดจนสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดได้ในที่สุด
ส่งผลต่อหัวใจ
การสูดหายใจเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กติดต่อกันระยะหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการตะกอนภายในหลอดเลือด จนทำให้เกิดหัวใจวาย หรือหลอดเลือดสมองตีบได้ ทั้งนี้การสัมผัสมลพิษทางอากาศยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เต้นผิดจังหวะ และอาจรุนแรงจนส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลัน
ส่งผลต่อสมอง
เมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดการสะสมขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเลือดมีความหนืด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตก เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตได้
กลุ่มเสี่ยงอันตราย
- เด็ก
- สตรีมีครรภ์
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว
การดูแลและป้องกันตนเอง
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรอยู่ในบ้านหรืออาคารที่มีเครื่องฟอกอากาศ
- สวมหน้ากากอนามัยชนิดที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่นหน้ากาก N95 เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้าน
- ควรทำความสะอาดผิว / ล้างหน้าให้สะอาดทันที หลังจากที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นมลพิษ
- สวมเสื้อแขนยาว เพื่อปกป้องผิวไม่ให้ระคายเคืองของผิว
- ทาครีมบำรุงผิว เพื่อให้ความชุ่มชื้นและทำให้เกราะป้องกันผิวแข็งแรงขึ้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานผลไม้หรือวิตามินที่สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี ดื่มน้ำสะอาดเพื่อช่วยในการขับสารพิษจากร่างกาย
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานที่หนาแน่นของมลพิษทางอากาศ หรือไม่แน่ใจการป้องกันตนได้ผลหรือไม่ โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มเสี่ยง หากพบอาการ เช่น หายใจลำบาก หน้ามืด อ่อนแรง หรือไอติดต่อกันรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.samitivejhospitals.com